วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ศีลมหาสนิท บ่อเกิดชีวิตจิตหนึ่งเดียว

ศีลมหาสนิท บ่อเกิดชีวิตจิตหนึ่งเดียว

เรียบเรียงโดย คุณพ่อธัญญา ศรีอ่อน

บทนำ
ในสภาพสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าชุมชนคริสตชนในสังคมเมืองและชนบท กำลังได้รับอิทธิพลต่าง ๆ จากสังคม และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ทำให้ความสัมพันธ์ต่าง ๆ แบบครอบครัว ได้เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ชุมชนต่าง ๆ รวมถึงชุมชนคริสตชนด้วยมีปัญหาเช่น คริสตชนต่างคนต่างอยู่ ไม่ยึดพระวาจาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต การดำเนินชีวิตเป็นพยานถึงพระเจ้าไม่เด่นชัด มีความรู้พระคัมภีร์น้อย มีส่วนร่วมในงานอภิบาล พิธีกรรมน้อย และคุณค่าทางสังคม ศาสนา ครอบครัว ถูกทำลายและถูกแทนที่ด้วยความเห็นแก่ตัว สุขนิยม และวัตถุนิยม

ปลายศตวรรษที่ 20 โลกเริ่มให้ความสนใจการวัดการพัฒนาประเทศที่ไม่ได้เน้นที่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่เน้น ความสุข คือความมีสมดุลระหว่างจิตวิญญาณกับวัตถุและความเป็นพี่เป็นน้องกัน เป็นความมีเสรีภาพภายในจิตใจ ที่ทำให้เรารู้และเข้าใจธรรมชาติและเสรีภาพของการมีความสุข ซึ่งพวกเราทุกคนกำลังแสวงหาความสุขเป็นอะไรที่วัดได้ จาก การพัฒนาของมนุษย์ การอนุรักษ์วัฒนธรรม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่สมดุลและเป็นธรรม การมีธรรมาภิบาลที่ดี ที่มีการพูดเช่นนี้ก็เพราะว่าโลกเริ่มมีความมั่นใจแล้วว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจไม่ใช่ปัจจัยเดียวและไม่ใช่ปัจจัยที่ดีที่สุดของความสุข ตรงกันข้าม การเน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจจนเกินไปทำให้เกิดผลเสียหายมากมาย เช่น ความไม่เป็นธรรมทางสังคม ธรรมชาติที่สูญเสียความสมดุล สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ฯลฯ ชีวิตมีความสับสนระหว่างเป้าหมายและเครื่องมือ แทนที่จะเอาเงินเป็นเครื่องมือกลับเอาเงินเป็นเป้าหมาย และทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงิน แม้แต่การโกงกินคอร์รัปชั่น[1] นโยบายการพัฒนาประเทศแทนที่จะเอาความสุขของประชาชนเป็นเป้าหมายกลับเอาตัวเลขทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมาย ทำให้มองข้ามความสุขของประชาชน หรืออาจจะมีการเข้าใจผิดว่าการมีเศรษฐกิจที่ดีทำให้ประชาชนมีความสุข ไม่เชื่อลองมาดูด้วยกันก็ได้ว่า การพัฒนาด้านต่าง ๆ ของประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นอย่างไร มีการประกาศแผนการพัฒนา ตั้งแต่ นำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ และ งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันพวกเราก็ยังวิ่งไล่ล่าหาความสุขมาจนถึงปัจจุบันยุค ความสุขที่คุณดื่มได้[2] แม้ว่าการพัฒนาในยุคปัจจุบันจะอ้างว่าประชาชนคือเป้าหมายแต่เมื่อมองให้ลึก มองให้ดีกลับพบว่ายิ่งอยากให้ชาวบ้านหายจนก็ยิ่งจน ยิ่งพักชำระหนี้ก็ยิ่งเป็นหนี้ เพราะหากู้หนี้ไปใช้หนี้ วนเวียนอยู่อย่างนี้ เช่น กองทุนหมู่บ้านมีปัญหาแต่ไม่ใช่การคืนหนี้ ไม่มีการเบี้ยว เพราะชาวบ้านไปกู้หนี้จากที่อื่นมาใช้หนี้กองทุนหมู่บ้าน แล้วกู้กองทุนหมู่บ้านไปใช้คืนเขาส่วนหนึ่ง เอาไปซื้อกินซื้อใช้แบบตรงและผ่อนส่งอีกส่วนหนึ่ง กลายเป็นวงจรอุบาทว์ของหนี้สิน ฯลฯ
วันนี้คนไทยไม่มีความสุข เครียด บ้า ฆ่าตัวตายกันมาก เป็นการพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าการพัฒนาของพวกเรามีปัญหา เรายังไม่เข็ดหลาบกับบทเรียนในอดีตกลับเดินหน้าบนเส้นทางเดิมอีก
แล้วเราจะทำอย่างไร?
อันดับแรกเราต้อง คืนสู่รากเหง้า หมายถึง การค้นหาอดีต หาเอกลักษณ์ ค้นหาคุณค่า ภูมิปัญญา พลังทางปัญญา เพื่อเผชิญหน้ากับโลกยุคปัจจุบันอย่างเป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่คนไร้รากที่ถูกสั่งให้กิน ให้มี ให้อยู่ ให้เป็น
การคืนสู่รากเหง้าไม่ใช่การคืนสู่อดีตหรือโหยหาอดีตแบบคนช่างฝัน หากเป็นกระบวนการค้นหา ระบบคุณค่า รากฐานเดิมของบรรพบุรุษ เพื่อนำมาปรับประยุกต์เป็นฐานใหม่ให้ชีวิตวันนี้ที่อยู่กันเหมือนคนไม่มีราก ไม่มีเหง้า ไม่รู้ว่าตนเองเป็นใคร มาจากไหน ไม่ภูมิใจในรากเหง้าเผ่าพันธุ์
สมัยก่อนมีคำว่าในน้ำมีปลา ในนามีข้าว อยากกินเห็ดเข้าป่า อยากกินปลาก็ลงหนองน้ำ วันนี้ไม่มีอีกแล้ว อะไรดี ๆ ที่อยู่ในป่าก็นำไปขายจนหมด ไม่ว่าไข่มดแดง แมงแคง จักจั่น อีรอก ดอกกระเจียว ผักหวาน แม้กระทั่งหน่อไม้ซึ่งเคยหาที่ไหนก็ได้ยังไม่เหลือ
การทบทวนอดีตทำให้ชาวบ้าน คิดได้ ว่าได้ทุบหม้อข้าวหม้อแกงของตนเองอย่างโง่เขลา จึงปรับตัวใหม่โดยการ ยกป่ามาไว้บ้าน อยากกินอะไรก็หาจากป่ามาปลูกในสวน เหลือปลูกก็ขาย
วันนี้มีน้ำหมากเม่า ไวน์หมากเม่า น้ำหมากแงว หมากไฟ หมากค้อ แทนน้ำอัดลม มีผงนัวแทนผงชูรส มีสมุนไพรแทนยาสมัยใหม่ มีผักป่าผักบ้านไร้สารเคมีแทนผักตลาด มีหมู มีไก่ มีปลา อาหารปลอดสารพิษ มีความอยู่เย็นเป็นสุข นี่คือการอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มีอยู่มีกิน ตัดสินใจเองได้ว่าจะกินจะอยู่อย่างไร ไม่ต้องให้ใครมากำหนด มีเกือบทุกอย่างที่ชีวิตต้องการ มีสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน เหลือกินเหลือใช้ก็ให้คนอื่น
ถ้ารวยแปลว่ามีเงินมาก พวกเขาไม่รวย แต่ถ้ารวยแปลว่ามีกินมีอยู่อย่างพอเพียง จน บ่อึดบ่อยาก ก็แปลว่า พวกเขารวยแล้ว เพราะนี่เป็นการเรียนรู้อดีตกับปัจจุบันเพื่อสานต่ออนาคต มั่นใจได้ว่าไม่ลำบาก คนในอดีตอยู่เย็นเป็นสุขเพราะรักษาความสัมพันธ์อันดีกับธรรมชาติ มีจารีตประเพณีที่แสดงออกถึงความสัมพันธ์ดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องงมงาย แต่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ ที่ทุกอย่างล้วนสัมพันธ์กัน พึ่งพาอาศัยกันทำให้เกิดความสมดุล ก่อให้เกิดความอยู่เย็นเป็นสุข
แล้วชีวิตคริสตชนของพวกเรากำลังออกห่างจากรากเหง้าของชีวิตที่ติดยึดกับพระคริสตเจ้า เพราะกระแสของโลกทำให้เรากระจัดกระจายออกไป แล้วเราจะทำให้ชีวิตของเรากลับมามีคุณค่า มีจิตหนึ่งใจเดียวกันอีกครั้งตามแบบที่พระเยซูคริสตเจ้าได้วางไว้ให้แก่เรา จนสามารถพูดเหมือนนักบุญเปาโลได้ว่า ข้าพเจ้าถูกตรึงกางเขนกับพระคริสตเจ้าแล้ว ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ มิใช่ตัวข้าพเจ้าอีกต่อไป แต่พระคริสตเจ้าทรงดำรงชีวิตอยู่ในตัวข้าพเจ้า ชีวิตที่ข้าพเจ้ากำลังดำเนินอยู่ในร่างกายขณะนี้ ข้าพเจ้าดำเนินชีวิตในความเชื่อถึงพระบุตรของพระเจ้า ผู้ทรงรักข้าพเจ้าและทรงมอบพระองค์เพื่อข้าพเจ้า ( กท 2,20)
คำสอนเรื่องศีลมหาสนิท
คำสอนเรื่องศีลมหาสนิทประกอบขึ้นมาจากคำสอนเรื่องบูชาศีลมหาสนิท การเลี้ยงบูชา และอาหารบูชา หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นการรวบรวมมาจากคำสอนเรื่องมิสซาบูชามิสซาขอบพระคุณ เป็นศีลแห่งความเป็นหนึ่งเดียว และคำสอนเรื่องการประทับอยู่จริงของพระคริสตเจ้า หากศีลมหาสนิทไม่ได้หมายถึงอาหารสำหรับประชากรผู้มีความเชื่อ พระคริสตเจ้าก็จะไม่ทรงประทับอยู่ในศีลมหาสนิทอย่างแน่นอน และหากไม่ได้มองศีลมหาสนิทว่าเป็นการเลี้ยงบูชา การเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าผ่านทางการรับศีลมหาสนิทก็ไม่เกิดขึ้นเช่นกัน เพราะว่า ทุกครั้งที่ท่านกินปังนี้ และดื่มจากถ้วยนี้ ท่านก็ประกาศการสิ้นพระชนม์ขององค์พระคริสตเจ้า จนกว่าพระองค์จะเสด็จมา (1 คร. 11:26)




ดังนั้น ธรรมล้ำลึกของศีลมหาสนิทจึงเป็นการสรุปธรรมล้ำลึกทั้งหมดของการไถ่กู้ให้รอดพ้นของเรา โดยมีความสัมพันธ์พื้นฐาน 2 ประการที่พระคริสตเจ้าทรงตั้งไว้เพื่อเรา
ประการแรก พระคริสเจ้าทรงเป็นสงฆ์คนกลาง ระหว่างเรากับพระเจ้า และทรงมอบพระองค์เองเป็นบูชาชดเชยบาปของเรา แต่พระองค์ไม่ได้เป็นคนแปลกหน้าสำหรับเรา ไม่ใช่ใครก็ไม่รู้ที่คอยเสนอวิงวอนต่อพระเจ้าแทนเราเท่านั้น
ประการที่สอง พระองค์เสด็จมาหาเราและเป็นคนกลางของพระหรรษทาน เป็นพระหรรษทานที่พระเป็นเจ้าประทานให้กับเราเพราะเห็นแก่การพลีพระชนม์ชีพของพระองค์
นี่คือธรรมล้ำลึกของการเป็นหนึ่งเดียวระหว่างเรากับพระคริสตเจ้าผู้เป็นแหล่งของพระหรรษทานทุกประการสำหรับเรา จากความไพบูลย์ของพระองค์ เราทุกคนได้รับพระหรรษทานต่อเนื่องกัน (ยน. 11)
                ความเป็นจิตหนึ่งใจเดียวกันระหว่างเรากับพระคริสตเจ้านี้ เกิดขึ้นจริงได้ในการพลีพระชนม์ชีพบนไม้กางเขนของพระคริสตเจ้าเท่านั้น กล่าวคือ โดยการมอบชีวิตของพระองค์เพื่อพระศาสนจักรที่พระองค์ได้ทรงไถ่กู้ไว้ด้วยตัวของพระองค์เอง จึงมีเพียงในการสิ้นพระชนม์เท่านั้นที่พระคริสตเจ้าได้ประทับตราแห่งพันธสัญญาไว้กับพระศาสนจักร จึงทำให้พระศาสนจักรได้รับการชำระให้บริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งถ้าหากเราจะพิจารณาตามคำสอนของนักบุญเปาโล ก็จะพูดถึงภาพลักษณ์ของความเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างลึกซึ้งของมนุษย์ที่ได้แต่งงานแล้ว สามีก็จงรักภรรยาดังพระคริสตเจ้าทรงรักพระศาสนจักร และทรงพลีพระองค์เพื่อพระศาสนจักร ทรงบันดาลให้พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์ ทรงใช้น้ำและพระวาจาชำระพระศาสนจักรให้บริสุทธิ์ (อฟ. 5:25-26)
                ดังนั้น จากความสัมพันธ์พื้นฐานสองประการที่พระคริสตเจ้าทรงตั้งไว้เพื่อเรา ทำให้เรามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งในธรรมล้ำลึกแห่งศีลมหาสนิท พิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณจึงเป็นการรื้อฟื้นการพลีชีพบูชาที่พระคริสตเจ้าได้ทรงมอบไว้เพื่อเรา เป็นการพลีชีพเพื่อชดเชยบาปผิดแทนเรา แต่ในขณะเดียวกัน การพลีชีพบูชานั้ยังเป็นการเตรียมการเลี้ยงบูชา ซึ่งเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความเป็นจิตหนึ่งใจเดียวกันระหว่างเรากับพระคริสตเจ้า และระหว่างเรากับเพื่อนพี่น้อง ผ่านทางพระหรรษทานด้วย

คำสอนพระศาสนจักร (ข้อ 1322 – 1419)
คำสอนของพระศาสนจักรสอนว่า คำสอนเรื่องศีลมหาสนิทประกอบขึ้นจาก
1.คำสอนเรื่องการบูชาศีลมหาสนิท พระศาสนจักรมองว่าพิธีบูชาขอบพระคุณ เป็นการพลีพระชนมชีพอย่างแท้จริงของพระเยซูคริสตเจ้า และเป็นการสถาปนาขึ้นโดยพระคริสตเจ้าในขณะรับประทานอาหารค่ำมื้อสุดท้าย พิธีบูชาขอบพระคุณนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงการพลีพระชนมชีพบนกางเขนของพระคริสต์อีกครั้งหนึ่ง แต่อยู่ในรูปแบบที่ไม่ต้องมีการหลั่งเลือดเหมือนในครั้งก่อน ในพิธีนี้ พระสงฆ์และเครื่องบูชา ก็คือองค์พระคริสตเจ้าเองที่ทรงมอบพระองค์เองเป็นเครื่องบูชาผ่านทางพระสงฆ์ ส่วนฆราวาสก็ร่วมถวายบูชานี้ด้วย เพียงแต่ฆราวาสไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนเครื่องบูชาให้กลายเป็นพระกายและพระโลหิตของพระเยซูคริสตเจ้า (transubstantiate) การพลีชีพบูชาศีลมหาสนิทนี้ ถูกนำถวายแด่พระเจ้าผ่านทางการสรรเสริญ การโมทนาคุณ การวิงวอนขอ และการชดเชยความบาปผิด ทั้งสำหรับผู้ที่มีชีวิตอยู่และที่ล่วงลับไปแล้ว
2.คำสอนเรื่องศีลศักดิ์สิทธิ์ การเลี้ยงบูชา และอาหารบูชา กล่าวคือ เป็นคำสอนที่เน้นว่าศีลมหาสนิทเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์แท้จริงที่ได้รับการสถาปนาโดยพระคริสตเจ้า พระองค์ทรงประทับอยู่จริงในศีลมหาสนิท แม้ในขณะที่ยังไม่ไดถูกรับโดยผู้หนึ่งผู้ใด ดังนั้นิศีลมหาสนิทจึงเป็นศีลที่ควรได้รับการเคารพและกราบไว้นมัสการ เพราะพระคริสตเจ้าทั้งครบทรงประทับอยู่ และเป็นพระองค์ทั้งครบที่บรรดาสัตบุรุษเข้ามารับ ทั้งนี้เพราะปังและเหล้าองุ่นได้รับการอภิเษก/เปลี่ยนให้เป็นพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้าแล้วโดยพระสงฆ์ทีได้รับการบวชอย่างถูกต้อง ปังและเหล้าองุ่นที่เรายังคงมองเห็นอยู่นั้นจึงเป็นเพียงภาพปรากฏภายนอกเท่านั้น
ประสิทธิผลของศีลมหาสนิทคือ ทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าอย่างแน่นแฟ้นขึ้น ศีลมหาสนิทยังเป็นอาหารหล่อเลี้ยงวิญญาณ ช่วยเพิ่มพูนพระหรรษทาน อภัยความผิดในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ (บาปเบา) และรวมถึงโทษของบาปเบานั้นด้วย

ศีลมหาสนิทและชุมชนที่เป็นจิตหนึ่งใจเดียวกัน
เอกสารของพระศาสนจักรได้มีการพูดถึงศีลมหาสนิทในชีวิตของชุมชนคริสนตชน สังคายนาวาติกันที่ 2 ได้อธิบายศีลมหาสนิทเป็นเหมือน จุดกำเนิดและจุดสุดยอดของชีวิตคริสตชน (LG, 11) การที่เราจะสร้างชุมชนคริสตชนให้เข้มแข็งเราจึงต้องมาดูถึงจุดกำเนิดและเป้าหมายของชีวิตคริสตชน เพื่อทำให้พระอาณาจักรแห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันนั้นได้ปรากฏเด่นชัดขึ้น โดยเริ่มจากความสัมพันธ์ในครอบครัว หมู่คณะ หรือชุมชนคริสตชนที่หันหน้าเข้าหากัน พึ่งพาอาศัยกัน และช่วยเหลือกันและกัน ต่อจากนั้นชุมชนคริสตชนที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องก็จะพร้อมใจกันหันเข้าหาพระ และที่สุดชุมชนวัดที่ชุมชนคริสตชนพื้นฐานที่รวมตัวกันเป็นจิตหนึ่งใจเดียวกันที่มีวิถีชีวิตของพระคริสตเจ้าเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจของเราเพราะพระองค์เป็นจุดกำเนิดและจุดหมายปลายทางของพันธกิจต่าง ๆ อาศัยศีลศักดิ์สิทธิ์และโดยเฉพาะในศีลมหาสนิทที่ทำให้เราอุทิศตนสร้างความเป็นจิตหนึ่งใจเดียวกัน เฉกเช่นพระเยซูคริสตเจ้า ทำให้สัมพันธ์รักเกิดขึ้นเมื่อมีการพบปะกันเป็นครั้งคราวในกลุ่มย่อยและโดยเฉพาะในการร่วมมิสซาบูชาขอบพระคุณ เป็นการเฉลิมฉลองการประทับอยู่ของพระเยซูคริสตเจ้าในพระวาจาและในศีลมหาสนิท ทำให้คริสตชนทราบถึงความเป็นอยู่ของกันและกัน ใครช่วยอะไรกันได้บ้าง หรือโอกาสฉลองสำคัญของสมาชิกในกลุ่มแบบพี่น้อง เช่น วันเกิด วันฟื้นจากป่วยไข้ ฯลฯ ล้วนเป็นโอกาสมาร่วมแสดงความยินดี หรือร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน เป็นการแสดงออกร่วมกันว่า ประชากรของพระเจ้า ร่วมเป็นจิตหนึ่งใจเดียวกันในความรัก
นักบุญเปาโลได้ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับศีลมหาสนิทว่าทำให้ชุมชนคริสตชนมีความเป็นหนึ่งเดียวและศีลมหาสนิทเป็นกิจกรรมทางศาสนาที่พระคริสตเจ้าทรงประทับอยู่จริงในปัจจุบันกับประชากรของพระองค์ จากมุมมองนี้ทำให้เรารู้ว่าศีลมหาสนิทยังเป็นเครื่องหมายของความเป็นพี่เป็นน้องกันของชุมชนคริสตชนที่ถูกรวมเป็นครอบครัวเดียวกัน (เทียบ 1 คร 10:17) หรือจะมองอีกอย่างหนึ่งว่าพวกเราไม่สามารถอยู่ได้โดยปราศจากพระเจ้า เป็นชีวิตที่พระองค์แบ่งปันให้กับพวกเราและทำให้พวกเราสมบูรณ์ขึ้น
ดังนั้น ศีลมหาสนิทจึงเป็นบ่อเกิดแห่งจิตหนึ่งใจเดียวกันในชุมชนคริสตชนตามวิถีชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้า คือพระองค์เติบโตในครอบครัวศักดิ์สิทธิ์อย่างอบอุ่นและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน จากนั้นพระองค์รวบรวมศิษย์เป็นหมู่คณะหรือชุมชนย่อย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของศิษย์ทุกคน โดยใช้ชีวิตร่วมกัน เพื่อพวกเขาจะได้ซึมซับคุณค่าต่าง ๆ ของพระองค์ในหมู่คณะนี้ คุณค่าเหล่านี้ก็คือ แนวทางในการดำเนินชีวิตที่สมกับเป็นลูกของพระบิดาเดียวกัน คริสตชนยุคแรกเป็นชุมชนย่อยโดยมีบ้านของสมาชิกบางคนเป็นที่พบปะ ชุมนุมเพื่อสวดภาวนาและสรรเสริญพระเจ้าร่วมกัน ทำพิธีบิขนมปังร่วมกัน และมีการให้กำลังใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นี่จึงเป็นรูปแบบของพระศาสนจักรที่ทำให้ชีวิตคริสตชนมีคุณภาพเพราะมีชีวิตสนิทกับพระคริสตเจ้า  (เทียบ กจ 2:42) โดยผ่านทางพระวาจา การร่วมในพิธีเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท และแสดงออกมาในกิจกรรมแห่งความรักคือ การร่วมมือกัน แบ่งปันและช่วยเหลือกันและกัน


อ่านเพิ่มเติม

ทินรัตน์ คมกฤส, ภราดา วิถีชุมชนวัด สร้างชุมชนย่อย ๆ ที่มีสัมพันธ์เป็นจิตหนึ่งใจเดียว บริษัท วิชิตการพิมพ์   
        จำกัด สมุทรสาคร 2006
วสันต์ พิรุฬห์วงศ์, บาทหลวง เอกสารประกอบการสอน ความรู้ทั่วไปเรื่องศีลศักดิ์สิทธิ์ วิทยาลัยแสงธรรม 
        นครปฐม
เสรี พงศ์พิศ ชุมชนเรียนรู้อยู่เย็นเป็นสุข เจริญวิทย์การพิมพ์ กรุงเทพฯ 2548

MARTINELLI RAFAELLO, Frammenti di Verità cattolica argomenti di attualità in forma dialogica, roma, Italia, 2005.





[1] เสรี พงศ์พิศ ชุมชนเรียนรู้อยู่เย็นเป็นสุข เจริญวิทย์การพิมพ์ กรุงเทพฯ 2548 หน้า 47
[2] เสรี พงศ์พิศ เรื่องเดียวกัน หน้า 47

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น