วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ชุมชนคริสตชนพื้นฐาน อัครสังฆมณฑลท่าแร่ – หนองแสง

ชุมชนคริสตชนพื้นฐาน อัครสังฆมณฑลท่าแร่ – หนองแสง
โดย คุณพ่อธัญญา ศรีอ่อน
อัครสังฆมณฑลท่าแร่ – หนองแสง โดยพระคุณเจ้าจำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ได้ประกาศให้งานชุมชนคริสตชนพื้นฐาน (Basic Ecclesial Community) เป็นนโยบายหลักในการฟื้นฟูชีวิตคริสตชนตามประกาศของสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย และได้มีการก่อตั้งชุมชนคริสตชนพื้นฐานในทุกเขตวัดโดยใช้วิธีการของ AsIPA ในการอบรมและดำเนินกิจกรรมกลุ่ม เริ่มดำเนินกิจกรรมกลุ่มในวันเสาร์ที่ 30 กันยายน 2006 ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งพระสงฆ์ นักบวชชาย-หญิง สัตบุรุษจากทุกวัด ในการเอาใจใส่ดูแลให้งานที่ได้เริ่มแล้วนี้ได้เจริญเติบโต
ในบริบทของชุมชนภาคอีสานโดยเฉพาะในอัครสังฆมณฑลท่าแร่ – หนองแสง คริสตชนจะอยู่รวมกันเป็นชุมชน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเป็นทุนอยู่แล้ว เมื่อได้นำชุมชนคริสตชนพื้นฐานมาเป็นวิถีของชุมชนก็จะทำให้ชุมชนนั้นเข้มแข็งขึ้น เพราะมีการนำพระวาจามาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต มีการเสริสสร้างความเชื่อของกันและกันด้วยการแบ่งปันประสบการณ์แห่งความเชื่อแก่กันและกัน เมื่อมองไปข้างหน้าจะพบว่าโดยอาศัยวิธีการนี้จะทำให้งานอภิบาลทุกอย่างดำเนินไปได้และบังเกิดผล เพราะนี่เป็นงานของพระเจ้าและพระศาสนจักรส่งเสริม

อัครสังฆมณฑลท่าแร่ – หนองแสง มี 74 วัด และจากการสำรวจจำนวนชุมชนคริสตชนครั้งล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2009 พบว่ามีจำนวนกลุ่มจากทุกวัด ดังนี้
เขตกลาง                มี 22 วัด มีจำนวนกลุ่มย่อย 153 กลุ่ม
เขตตะวันออก        มี 20 วัด มีจำนวนกลุ่มย่อย 123 กลุ่ม
เขตตะวันตก          มี 32 วัด มีจำนวนกลุ่มย่อย 121 กลุ่ม
เขตพิเศษ/หน่วยงานต่าง ๆ                   มีจำนวน 34 กลุ่ม
รวมจำนวนกลุ่มย่อยทั้งหมด 431 กลุ่ม
แต่ละกลุ่มย่อย แต่ละชุมชนคริสตชนได้มีการดำเนินกิจกรรมกลุ่มร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ อย่างมีเอกภาพ ก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี การร่วมมือ การช่วยเหลือกัน มีความเป็นพี่เป็นน้องกันมากขึ้น แม้ในหลาย ๆ กลุ่มจะมีปัญหาในการดำเนินงานกลุ่มบ้างแต่ทุกกลุ่มก็กำลังก้าวหน้าไปด้วยดี

ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ได้มีการก่อตั้งสำนักงานชุมชนคริสตชนพื้นฐานขึ้นมาเพื่อประสานงานและได้มีแผนภูมิการการบริหารประกอบด้วย


ในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับผู้นำทุกระดับ สัตบุรุษ รวมทั้งให้การอบรมนักบวชและพระสงฆ์ด้วย มีการออกเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานกลุ่มอย่างใกล้ชิด ได้มีการทำคู่มือการประชุมประจำเดือน จดหมายข่าวและมีการประชาสัมพันธ์ผ่านทางการจัดรายการวิทยุ ได้มีการบูรณาการกับหน่วยงานอื่นในอัครสังฆมณฑลในการอบรม สัมมนา เพื่อสร้างความเข้าใจและเผยแพร่งานชุมชนคริสตชนพื้นฐาน ฯลฯ
ข้อดีที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 3 ปี
1.       สัตบุรุษมีความรัก ความเป็นหนึ่งใจเดียวกัน มีความสามัคคีและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งมีความเกื้อกูลต่อกัน
2.       สัตบุรุษมีความศรัทธา และรู้จักเสียสละที่จะมาช่วยงานวัด และร่วมพิธีกรรมมากขึ้น
3.       สัตบุรุษเห็นความสำคัญ และเข้าใจในความหมายของพระวาจาพระเจ้า และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเจริญชีวิตของตนเองมากขึ้น
4.       สัตบุรุษมีบทบาทในการช่วยงานวัดของตนมากขึ้น
5.       ร่วมมือกันช่วยเหลือคนยากจน คนที่ต้องการความช่วยเหลือในชุมชน ทั้งในด้านทรัพย์สิน กำลังกาย กำลังใจ และสติปัญญา
6.       สัตบุรุษได้สัมผัสพระวาจากขึ้น และได้แบ่งปันข้อคิด ประสบการณ์ชีวิตให้แก่กันและกัน
7.       มีการจัดดูแลวัดอย่างเป็นระบบ และมีผู้รับผิดชอบพิธีกรรมประจำสัปดาห์ ช่วยให้สัตบุรุษมีส่วนร่วมในพิธีกรรมมากขึ้น
8.       คริสตชนและคุณพ่อเจ้าอาวาส นักบวช รู้จักกัน สัมพันธ์กันมากขึ้น       และคริสตชนก็รู้สึกอบอุ่นที่มีพระสงฆ์ นักบวชเข้ามาหาชาวบ้าน
9.       ชาวบ้านมีความกล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิดเห็น และกล้าแบ่งปันกันมากขึ้น
10.    ได้มีการรื้อฟื้นประเพณีดั้งเดิมขึ้นมาใหม่ ได้แก่ การลงแขกดำนา ฯลฯ
11.    มีการจัดการดูแลวัดอย่างเป็นระบบ
12.    ชาวบ้านได้มีโอกาส พบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากขึ้น
13.    คริสตชนเริ่มตื่นตัวกันมากขึ้น
14.    ความสามัคคีในชุมชนดีขึ้น เป็นที่น่าพอใจ เด็กๆ และเยาวชนจะได้รู้จัก แบ่งปัน และเป็นหนึ่งเดียวในอนาคต
15.    มีการพูดคุยกันมากขึ้น ช่วยเหลือซึ่งกันและกันดี
16.    มีโอกาสเยี่ยมเยียนบ้านที่ไม่ค่อยได้มาร่วมศาสนกิจ หรือร่วมประชุมงานชุมชนคริสตชนพื้นฐาน
17.    ทราบถึงความเป็นอยู่และประสบการณ์ต่างๆของเพื่อนบ้าน ซึ่งได้นำไปแก้ไขหรือปรับปรุงในการเป็นตัวอย่าง
18.    ทำให้ผู้ร่วมประชุมได้ภาวนาร่วมกันและมีข้อตั้งใจดีร่วมกัน
19.    ทำให้ชีวิตกลุ่มระหว่างเพื่อนพี่น้องสัตบุรุษมีชีวิตชีวาแบบคริสตชน
20.    อย่างน้อยที่พระสงฆ์ไปร่วมประชุมกับชาวบ้านก็จะได้เป็นโอกาสเยี่ยมเยียนบ้านของสัตบุรุษด้วย

(ข้อมูลจากการประเมินการดำเนินงานชุมชนคริสตชนพื้นฐาน ของพระสงฆ์ นักบวช และฆราวาส เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2009 ณ สำนักมิสซังท่าแร่ – หนองแสง)

อย่างไรก็ดี การดำเนินงานชุมชนคริสตชนพื้นฐานในเขตอัครสังฆมณฑลท่าแร่ – หนองแสง ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ยังต้องการความช่วยเหลือ ต้องการคำแนะนำ การกำกับดูแลเอาใจใส่ หล่อเลี้ยงกลุ่มอย่างใกล้ชิดจากผู้ที่เกี่ยวข้อง หากมีคำถามว่า “การดำเนินชุมชนคริสตชนพื้นฐานจะประสบความสำเร็จหรือไม่” เมื่อถึงเวลานี้เราสามารถพูดได้ว่า ต้องอาศัยเวลา และทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ ทุ่มเทเพื่องานนี้ออย่างจริงจัง และที่สำคัญงานนี้เป็นงานของพระเจ้าอย่ากลัวที่จะเริ่มต้นและก้าวไปด้วยกันเพราะพระคริสตเจ้าทรงสัญญาว่าจะอยู่กับพวกเราเสมอจนสิ้นพิภพ







การนำพระวาจามาใช้ในการดำเนินชีวิต

1.       มีการส่งเสริมให้สมาชิกได้อ่านพระคัมภีร์สม่ำเสมอในครอบครัวและโดยเฉพาะเวลาประชุมกลุ่ม เพื่อทำให้พระวาจาของพระเจ้ามาเป็นศูนย์กลางในชีวิตประจำวันเพื่อจะได้ช่วยเหลือกันมากขึ้น มีงานเมตตาจิตต่อเพื่อนพี่น้องผู้ยากไร้ ต้องนำพระวาจาของพระเจ้ามาเชื่อมต่อเหตุการณ์ให้ได้ และส่งเสริมให้มีการอ่านพระวาจาออกอากาศทางหอกระจายข่าวของชุมชน วิทยุชุมชน และเขียนข้อความจากพระคัมภีร์ติดไว้ในสถานที่สำคัญ เช่นครอบครัว วัด สี่แยก ฯลฯ เพื่อสมาชิกจะได้รำพึงพระวาจาสม่ำเสมอ มีการส่งเสริมให้แต่ละกลุ่มได้จัดทำแท่นสำหรับวางพระคัมภีร์ให้สวยงาม เหมาะสมกับเป็นพระวาจาของพระเจ้า และทุกกลุ่มก็พยายามทำอย่างดี
2.       การแบ่งปันพระวาจา เป็นการแบ่งปันความเชื่อที่ได้รับจากการดลใจจากพระคัมภีร์ ที่ได้มาจากประสบการณ์แม้จะเป็นปัญหาใหญ่ของการประชุมก็ตาม ได้เน้นให้สมาชิกได้แสดงบทบาทของครอบครัวโดยเฉพาะแม่บ้านในการอบรมพระคัมภีร์และสอนคำสอนให้ลูก ๆ ให้รักพระวาจา สวดภาวนาในครอบครัวร่วมกัน ตลอดจนการอ่านบทอ่าน และการใช้พระวาจาของพระเจ้าในทุกกิจกรรม
3.       ส่งเสริมให้ผู้อภิบาล คณะกรรมการทุกระดับและผู้นำกลุ่มย่อยต้องได้รับการอบรมด้านพระวาจาอย่างเพียงพอเพื่อจะได้ร่วมกัน สร้างชุมชนพอเพียง เพียงพอ และเข้มแข็งโดยใช้พระวาจาของพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง การแพร่ธรรมผ่านทางชุมชนคริสตชนพื้นฐาน โดยการเป็นประจักษ์พยานในชีวิตประจำวัน และใช้ศิลปะในการประกาศพระวรสาร เช่นการใช้บทเพลงพื้นบ้านในการถ่ายทอดพระวาจา กีฬา และจากการแสดงความเป็นพี่น้องกับพี่น้องต่างความเชื่อโดยการบริจาค การทำบุญร่วมกัน การช่วยเหลือกันในงานต่าง ๆ ของชุมชน ฯลฯ










ศีลมหาสนิทสร้างความเป็นหนึ่งเดียวในชีวิตประจำวัน
ศีลมหาสนิทเป็น จุดกำเนิดและจุดสุดยอดของชีวิตคริสตชน (LG, 11) การที่เราจะสร้างชุมชนคริสตชนให้เข้มแข็งเราจึงต้องมาดูถึงจุดกำเนิดและเป้าหมายของชีวิตคริสตชน เพื่อทำให้พระอาณาจักรแห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันนั้นได้ปรากฏเด่นชัดขึ้น โดยเริ่มจาก
ความสัมพันธ์ในครอบครัวเช่น การรับประทานอาหารร่วมกัน สวดภาวนาร่วมกัน ทำงานร่วมกัน ไปร่วมมิสซาด้วยกันในบรรยากาศของครอบครัว ซึ่งในแต่ละครอบครัวในหลาย ๆ ชุมชนคริสตชนเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นกิจกกรรมเร่งด่วนและหลาย ๆ ชุมชนได้เริ่มทำแล้ว
ความสัมพันธ์ในหมู่คณะ หรือชุมชนคริสตชนที่หันหน้าเข้าหากัน พึ่งพาอาศัยกัน และช่วยเหลือกันและกันเช่นมีการลงแขก การไปเยี่ยมคนป่วยเป็นกลุ่ม การประชุมกลุ่มย่อยร่วมกันทุกเดือน ตลอดจนให้ความร่วมมือกับกิจกรรมของส่วนรวมร่วมกัน ต่อจากนั้นชุมชนคริสตชนที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องก็จะพร้อมใจกันหันเข้าหาพระ และที่สุดชุมชนคริสตชนพื้นฐานที่ทุกคนรวมตัวกันเป็นจิตหนึ่งใจเดียวกันที่มีวิถีชีวิตของพระคริสตเจ้าเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจของเราเพราะพระองค์เป็นจุดกำเนิดและจุดหมายปลายทางของพันธกิจต่าง ๆ ทำให้สัมพันธ์รักเกิดขึ้นเมื่อมีการพบปะกันเป็นครั้งคราวและโดยเฉพาะในการร่วมมิสซาบูชาขอบพระคุณ เป็นการเฉลิมฉลองการประทับอยู่ของพระเยซูคริสตเจ้าในพระวาจาและในศีลมหาสนิท ทำให้คริสตชนทราบถึงความเป็นอยู่ของกันและกัน ใครช่วยอะไรกันได้บ้าง มีการรับผิดชอบในการเตรียมพิธีกรรมร่วมกัน ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมมากขึ้น หรือโอกาสฉลองสำคัญของสมาชิกในกลุ่มแบบพี่น้อง เช่น วันเกิด วันครบรอบแต่งงาน วันฟื้นจากป่วยไข้ ฯลฯ ล้วนเป็นโอกาสมาร่วมแสดงความยินดี หรือร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน เป็นการแสดงออกร่วมกันว่า ประชากรของพระเจ้า ร่วมเป็นจิตหนึ่งใจเดียวกันในความรักในช่วงเวลา 3 ปีแห่งความรักของพระเจ้านี้อจึงเป็นช่วงเวลาของการขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับกิจการดีที่ได้เริ่มในชุมชนคริสตชนของพวกเรา ยิ่งทำให้พวกเรามีความหวังว่าพวกเราจะเป็นชุมชนใหม่ที่มีพระวาจาของพระเจ้าและศีลมหาสนิทเป็นศูนย์กลางในการดพเนินชีวิต
นักบุญเปาโลได้ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับศีลมหาสนิทว่าทำให้ชุมชนคริสตชนมีความเป็นหนึ่งเดียวและศีลมหาสนิทเป็นกิจกรรมทางศาสนาที่พระคริสตเจ้าทรงประทับอยู่จริงในปัจจุบันกับประชากรของพระองค์ จากมุมมองนี้ทำให้เรารู้ว่าศีลมหาสนิทยังเป็นเครื่องหมายของความเป็นพี่เป็นน้องกันของชุมชนคริสตชนที่ถูกรวมเป็นครอบครัวเดียวกัน (เทียบ 1 คร 10:17)
ดังนั้น ศีลมหาสนิทจึงเป็นบ่อเกิดแห่งจิตหนึ่งใจเดียวกันในชุมชนคริสตชนตามวิถีชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้า คือพระองค์เติบโตในครอบครัวศักดิ์สิทธิ์อย่างอบอุ่นและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน จากนั้นพระองค์รวบรวมศิษย์เป็นหมู่คณะหรือชุมชนย่อย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของศิษย์ทุกคน โดยใช้ชีวิตร่วมกัน เพื่อพวกเขาจะได้ซึมซับคุณค่าต่าง ๆ ของพระองค์ในหมู่คณะนี้ คุณค่าเหล่านี้ก็คือ แนวทางในการดำเนินชีวิตที่สมกับเป็นลูกของพระบิดาเดียวกัน คริสตชนยุคแรกเป็นชุมชนย่อยโดยมีบ้านของสมาชิกบางคนเป็นที่พบปะ ชุมนุมเพื่อสวดภาวนาและสรรเสริญพระเจ้าร่วมกัน ทำพิธีบิขนมปังร่วมกัน และมีการให้กำลังใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นี่จึงเป็นรูปแบบของพระศาสนจักรที่ทำให้ชีวิตคริสตชนมีคุณภาพเพราะมีชีวิตสนิทกับพระคริสตเจ้า  (เทียบ กจ 2:42) โดยผ่านทางพระวาจา การร่วมในพิธีเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท และแสดงออกมาในกิจกรรมแห่งความรักคือ การร่วมมือกัน แบ่งปันและช่วยเหลือกันและกัน
และที่สุดในบางกลุ่มมีชื่อนักบุญเป็นองค์อุปถัมภ์ ก็มีการฉลองนักบุญประจำกลุ่ม มีพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณภายในกลุ่มทำให้สมาชิกมีความเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น และจากกิจกรรมนี้ทำให้ศีลมหาสนิทกลายเป็นจุดศูนย์รวมของการเฉลิมฉลองของกลุ่มในแต่ละปีด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น