วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การเติบโตของชุมชคริสตชนพื้นฐานสำหรับพันธกิจแห่งรักในอัครสังฆมณฑลท่าแร่ – หนองแสง

การเติบโตของชุมชคริสตชนพื้นฐานสำหรับพันธกิจแห่งรักในอัครสังฆมณฑลท่าแร่ – หนองแสง
บทที่ 1 ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับวัดในปัจจุบัน
ก.      เบื้องหลังทางประวัติศาสตร์ของอัครสังฆมณฑลท่าแร่ – หนองแสง
ข.       สถานการณ์และความท้าทายในงานอภิบาลในปัจจุบัน
ค.      การประเมินสถานการณ์
บทที่ 2 คำแนะนำของพระศาสนจักรในงานชุมชนคริสตชนพื้นฐาน
ก.      ชุมชนคริสตชนพื้นฐานในคำสอนทางการของพระศาสนจักร
ข.       ชุมชนคริสตชนพื้นฐานในเอเชีย
ค.      ชุมชนคริสตชนพื้นฐานเป็นประสบการณ์ใหม่ของการเป็นพระศาสนจักร
บทที่ 3 ชุมชนคริสตชนพื้นฐานสำหรับพันธกิจแห่งรักในอัครสังฆมณฑลท่าแร่ – หนองแสง
ก.      องค์ประกอบของการเจริญเติบโตของชุมชนคริสตชนพื้นฐาน
-           องค์ประกอบของวัดที่เอื้อต่อการเติบโต
-           การนำผ่านชุมชนคริสตชนพื้นฐาน
-           การอภิบาลของชุมชนคริสตชนพื้นฐาน
-           ผู้ประสานงาน
-           การประเมินงานชุมชนคริสตชนพื้นฐาน
ข.       พันธกิจของชุมชนคริสตชนพื้นฐานและการประกาศพระวรสารในชุมชน
-           การประกาศพระวรสารผ่านทางชุมชนคริสตชนพื้นฐาน
-           การเสวนา
-           การอภิบาลคนยากจน
-           คุณค่าของครอบครัว
ค.      กิจกรรมแห่งรัก
ง.       สรุป
           ชีวิตจิตสำหรับชุมชนคริสตชนพื้นฐาน
          ชุมชนคริสตชนพื้นฐานในอัครสังฆมณฑลท่าแร่ – หนองแสง

ครูคำสอนกับวิถีชุมชนวัด

ครูคำสอนกับวิถีชุมชนวัด

พระเยซูเจ้าทรงสั่งบรรดาอัครสาวกว่า “ท่านทั้งหลายจงไปทั่วโลก ประกาศข่าวดีแก่มนุษย์ทุกคน...” (มก 16:15) และนี่จึงเป็นหน้าที่ของคริสตชนทุกคนและโดยเฉพาะครูคำสอน ทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาปถือว่าเป็นสมาชิกของชุมชนคริสตชนพื้นฐานแต่ไม่ใช่ทุกคนเป็นครูคำสอน ดังนั้นครูคำสอนจึงเป็นหน้าที่พิเศษในการประกาศข่าวดี ปัจจุบันนี้ครูคำสอนมีบทบาทมากมายในกิจกรรมคาทอลิกต่าง ๆ แต่บทบาทที่เด่นชัดที่สุดคือการเป็นผู้นำด้านพระวาจาเป็นบทบาทของผู้นำในชุมชนคริสตชนพื้นฐานนั่นเอง
บทบาทของครูคำสอนในชุมชนคริสตชนพื้นฐาน
-           เป็นคณะกรรมการระดับวัด/ทีมเยี่ยมครอบครัว/เยี่ยมกลุ่มย่อย
-           เป็นผู้นำกลุ่มย่อย
-           เป็นผู้ประสานงานกับองค์กรคาทอลิกในวัด รวมถึงการเป็นสมาชิกของกลุ่มต่าง ๆ ด้วย
-           ครูคำสอนประกาศพระวาจาผ่านทางชุมชนคริสตชนพื้นฐาน
-           เริ่มต้นโดยการอ่านพระวาจาประจำวันและสอนด้วยการเป็นพยานด้วยชีวิต ใจดี
-           การสอนคำสอนผู้ใหญ่ RCIA “ก้าวไปด้วยกัน” โดยร่วมเดินทางไปพร้อมกับผู้สมัครเป็นคริสตชน
-           เสวนากับพี่น้องต่างความเชื่อ
-           เป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิตและทำงานกิจเมตตา
-           ส่งเสริมคุณค่าอันดีงามของครอบครัว
ครูคำสอนจึงมีบทบาทในการสร้างชุมชนแห่งความรัก (Koinonia)
หนึ่งในลักษณะที่สำคัญของชุมชนคริสตชนพื้นฐานคือการมีความรัก เอาใจใส่กันและกัน บริการช่วยเหลือกันและกันในระหว่างสมาชิกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งเสริมความเชื่อของกันและกัน การเปิดตนเองสู่ครอบครัวอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้ ๆ การเยี่ยมเยียน การสวดสายประคำร่วมกันตลอดจนการแบ่งปันพระวาจาร่วมกัน สรุปก็คือเป็นการอุทิศตนของสมาชิกสู่บุคคลอื่นเหมือนกับว่าทุกคนเป็นครอบครัวเดียวกัน มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันอย่างยั่งยืนโดยพระวาจาของพระเจ้า ภาวนาและรับใช้กันและกัน (เทียบ กจ2:42-47)


ครูคำสอนมีบทบาทในการแบ่งปันพระวาจา (Kerygma)
หัวใจของชุมชนคริสตชนพื้นฐานคือการประชุมกลุ่มเพื่อแบ่งปันพระวาจาเป็นการดำเนินชีวิตคริสตชนที่ได้รับการหล่อเลี้ยงจากพระวาจา สมาชิกแต่ละคนได้รับการหล่อเลี้ยงจากพระวาจาและมีความเป็นหนึ่งเดียวกันโดยการแบ่งปันประสบการณ์แห่งความเชื่อที่ได้จากการปฏิบัติตามพระวาจาของแต่ละคน เนื้อหาในการสนทนาของสมาชิกก็คือพระวาจาของพระเจ้า ชุมชนคริสตชนพื้นฐานที่ได้รับการก่อตั้งด้วยพระวาจาของพระเจ้าจะเป็นชุมชนที่ได้รับการยอมรับและมีความยั่งยืนเหมือนคนฉลาดที่สร้างบ้านไว้บนหิน (เทียบ มธ 7:24-27) ครูคำสอนจึงมีบทบาทอย่างมากเพราะเป็นที่รู้จักของสมาชิกและมีความชำนาญในการอ่านพระคัมภีร์จึงมีบทบาทในการเป็นผู้นำการประชุมแบ่งปันพระวาจา
ครูคำสอนมีบทบาทในการภาวนา การถวายบูชาและศีลมหาสนิท (Leitourgia)
ความสัมพันธ์ระหว่างพระวาจาของพระเจ้าและชุมชนคริสตชนพื้นฐานเป็นเสมือนกับความสัมพันธ์ของศีลมหาสนิทกับชุมชนคริสตชนพื้นฐาน เพราะว่าไม่มีชุมชนคริสตชนพื้นฐานที่ก่อตั้งขึ้นโดยไม่มีรากฐานหรือมีศูนย์กลางในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณและศีลมหาสนิท หลังจากมีการภาวนาร่วมกันในกลุ่มย่อยในระหว่างเพื่อนบ้าน ในการประชุมนี้มีการแบ่งปันพระวาจาของพระเจ้าด้วยกัน มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามบ้านของสมาชิกและโดยวิธีการนี้ชุมชนคริสตชนพื้นฐานร่วมกันสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันกับกลุ่มย่อยอื่น ๆ ในชุมชนวัดโดยการร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันในการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทในวันอาทิตย์พร้อมกัน ครูคำสอนจึงมีหน้าที่ประสานงานกับคุณพ่อเจ้าอาวาสและกลุ่มที่รับผิดชอบในการจัดเตรียมพิธีกรรมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ครูคำสอนทำหน้าที่ทุกอย่างในวัดโดยลำพัง “แม้ร่างกายเป็นร่างกายเดียวแต่มีอวัยวะหลายส่วน อวัยวะต่าง ๆ เหล่านี้แม้จะมีหลายส่วนก็รวมเป็นร่างกายเดียวกันฉันใด พระคริสตเจ้าก็ฉันนั้น” (1คร 12:12)
ครูคำสอนมีบทบาทหน้าที่ในการบริการและรับใช้ (Diakonia)
ชุมชนคริสตชนพื้นฐานที่ขาดมิติของการบริการ รับใช้และการอุทิศตนเพื่อชุมชนก็ไม่ใช่ชุมชนคริสตชนพื้นฐานเป็นเพียงกลุ่มศึกษาพระคัมภีร์ กลุ่มสวดภาวนา หรือองค์กรฆราวาส ฯลฯ “ชุมชนคริสตชนพื้นฐานต่างจากกลุ่มอื่น ๆ ตรงที่สมาชิกแต่ละคนได้รำพึง ไตร่ตรองคุณค่าของพระวาจาในทุก ๆ  กิจการของชีวิตและนำไปสู่การปฏิบัติตามพระวาจาในบริการและรับใช้และอุทิศตนเพื่อคนอื่น ๆ ในชีวิตประจำวันเป็นการสานต่อพันธกิจของพระเยซูเจ้า” (อ่านเพิ่มเติม T.A.KLEISSLER – M.A.LeGUINNESS, Small Christian Communities:A vision of Hope. Paulist, Mahwah1991, p.107.)
จึงพอสรุปได้ว่าการไปร่วมประชุมชุมชนคริสตชนคริสตชนพื้นฐานเป็นมากกว่าการไปสวดภาวนา อ่านพระวาจาร่วมกัน หรือประชุมปรึกษาหารือกันเท่านั้นแต่ต้องมีภาคปฏิบัติคือต้องมีกิจเมตตา หรือการช่วยเหลือกันและกันเหมือนคริสตชนยุคแรก “คนเหล่านั้นประชุมกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อฟังคำสั่งสอนของบรรดาอัครสาวก ดำเนินชีวิตร่วมกันฉันพี่น้อง ร่วมพิธีบิปัง และอธิษฐานภาวนา พระเจ้าทรงบันดาลให้อัครสาวกทำปาฏิหารย์และเครื่องหมายอัศจรรย์เป็นจำนวนมาก ทุกคนจึงมีความยำเกรง ผู้มีความเชื่อทุกคนดำเนินชีวิตร่วมกันและมีทุกสิ่งเป็นของส่วนรวม เขาขายที่ดินและทรัพย์สินอื่น ๆ แบ่งเงินให้ทุกคนตามความต้องการ” (กจ 2:42-45) ครูคำสอนจึงมีบทบาทอย่างยิ่งในการประสานงานและทำให้กิจเมตตาเหล่านี้เกิดขึ้น กิจเมตตามีอะไรบ้าง
-           ทำซุ้มอาหารโอกาสฉลองวัด
-           การเยี่ยมเยียนคนป่วย คนพิการ และผู้สูงอายุ
-           รวมรวมเสื้อผ้าที่ใช้แล้วและนำไปมอบแก่คนที่มีมีใส่
-           การบริจาคเลือด ฯลฯ
ดังนั้น ครูคำสอนจึงมีบทบาทอย่างมากในการสร้างและพัฒนาชุมชนวัดทำให้การประทับอยู่ของพระเยซูคริสตเจ้าเด่นชัดขึ้นในการสอนคำสอนและในการดำเนินชีวิตในชุมชนและโดยเฉพาะในการมีส่วนร่วมในการก่อตั้งชุมชนคริสตชนพื้นฐานโดยการเป็นกรรมการระดับวัด หรือผู้นำกลุ่มย่อย และร่วมมือกับคุณพ่อเจ้าอาวาสในประสานงานเพื่อทำให้งานชุมชนคริสตนพื้นฐานสามารถดำเนินงานได้อย่างเกิดผล เป็นเรื่องที่พวกเราต้องรีบทำอย่างเร่งด่วนเป็นต้นในช่วง 5 ปีนี้ เพื่อให้แผนอภิบาลคริสตศักราช 2010 – 2015 ของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย “อภิบาลชุมชนศิษย์พระคริสต์ร่วมพันธกิจแบ่งปัน” ของสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทยบรรลุผลและเราทุกคนเป็นเครื่องมือที่ดีของพระเจ้าในการประกาศข่าวดี